นางเอกหัวใจสีเขียว "เชอรี่ เข็มอัปสร" ห่างจากจอละคร ทำงานจิตอาสาฟื้นฟูป่าตอบแทนคุณแผ่นดิน

คอมเมนต์:

งามทั้งภายในและภายนอกจริงๆ "เชอรี่ เข็มอัปสร" กับงานอาสาเพื่อฟื้นฟูป่าให้ยั่งยืนไปจนชั่วลูกชั่วหลาน!

    เป็นนางเอกสาวมากฝีมือที่แฟนๆ คิดถึง "เชอรี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ" ถึงแม้ว่าเธอจะหายไปจากหน้าจอโทรทัศน์นานเกือบ 2 ปีเต็ม ไม่ใช่เพราะไม่มีงาน แต่เพราะเธอกำลังมีความสุขกับการเป็นอาสาสมัครทางด้านอนุรักษ์ป่าไม้ 

    โดยสาวเชอรี่ เคยได้ออกมาเปิดใจว่า หลังจากที่ตระหนักถึงความน่ากลัวของภาวะโลกร้อน เนื่องจากป่าไม้หายไปเยอะ จนทำให้เกิดน้ำท่วมและภัยแล้ง โดยปัจจุบันเธอรวมตัวกับเพื่อนๆ และได้ก่อตั้งโครงการ “ลิตเติล ฟอเรสต์ (Little Forest) ปลูกป่า ปลูกคน ปลูกใจ” ทำในเรื่องของการปลูกป่าและสร้างฝาย ถือเป็นประโยชน์ต่อผืนแผ่นดินไทยมากๆ

 

Sponsored Ad

 

เชอรี่ เข็มอัปสร

    ทั้งนี้ล่าสุดเธอยังได้ร่วมมือกับวัดและองค์กรการกุศลรวม ๘ หน่วยงาน รวมพลังรณรงค์ “ปลูกต้นไม้ ปลูกธรรมะ” เผยแพร่แนวคิด “การปลูกต้นไม้เท่ากับทำบุญ ทำความดี” ส่งเสริมการทำบุญด้วยการปลูกต้นไม้สร้างป่า ซึ่งเพิ่งมีงานแถลงข่าวที่ไลฟ์สไตล์ฮอลล์ สยามพารากอน

 

Sponsored Ad

 

    โดยภายหลังจากงานเสร็จสิ้น เชอรี่ เข็มอัปสรได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโครงการดีๆ ของเธอ รวมถึงการเปิดปากกลายๆ ถึงความรู้สึกอิ่มตัวในวงการบันเทิง

    แรงบันดาลใจที่ทำให้อุทิศตัวเพื่อการอนุรักษ์ป่าไม้ ?

 

Sponsored Ad

 

    “เริ่มแรกเรารวมตัวกันกับกลุ่มเพื่อนตั้งแต่ประมาณ 1 ปี ซึ่งระหว่างทางเราพูดมาตลอดว่าอยากทำอะไรให้เมืองไทยได้บ้าง แต่ยังไม่มีใครคิดออกสักที จนเมื่อต้นปีที่แล้วมีภัยแล้งหนักมาก และเรารู้สึกว่าอยากแก้ปัญหาเรื่องนี้ ตอนแรกมีคิดว่าจะซื้อน้ำไปให้ชาวบ้าน แต่มันเป็นไม่ยั่งยืน ไม่รู้จะแก้ยังไง เราเลยแยกย้ายกันไปหาข้อมูลแก้ปัญหาภัยแล้งต้องทำที่ไหน ปรากฏว่าการแก้ปัญหาที่แท้จริงคือต้องแก้ที่ต้นไม้ คือการรักษาป่าของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภัยแล้งหรือน้ำท่วม จึงเป็นจุดเริ่มงานเกี่ยวกับอนุรักษ์ป่าไม้ ซึ่งตอนนี้มีหลายๆ โครงการสร้างฝายชะลอน้ำ ‘ลิตเติล ฟอเรสต์ ปลูกป่า ปลูกคน ปลูกใจ’

 

Sponsored Ad

 

    “เราถือว่าเป็นเรื่องสำคัญและเป็นความกังวลของเราจริงๆนะ เมื่อก่อนเราคิดมาตลอด แต่แค่กลัวว่าเราเป็นคนตัวเล็กๆ เอง จะไปทำหรือช่วยอะไรได้ สิ่งที่เราทำก็แค่เล็กๆ เอง แต่ก็มาเปลี่ยนความคิด การเริ่มทำดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย เราก็เลยรู้สึกว่าเริ่มเลยเถอะ และค่อยๆ เรียนรู้ไป ถึงเราจะทำไม่เป็น ไม่มีความรู้ ก็พยายามศึกษา ซึ่งเราถือเป็นน้องใหม่ในวงการการอนุรักษ์มากๆ เลย แต่ว่าก็พยายามที่จะหาความรู้ หาข้อมูลและรูปแบบในการที่จะทำ เริ่มจากการปลูกป่า และมาถึงงานฝาย รวมไปถึงการพัฒนาอาชีพของคน ซึ่งเรามองว่าเป็นการส่งเสริมซึ่งกันและกันที่ทำให้สามารถรักษาป่าให้ยั่งยืนได้”

 

Sponsored Ad

 

ลงพื้นที่ปลูกป่า 20,000 ต้นใน จ.แพร่

    นอกจากจะสละเงินส่วนตัวแล้วก็ยังลงมือเองทุกขั้นตอนด้วย?

    “เงินตัวเองก็ส่วนหนึ่ง แต่มีมาจากการขายของ หรือว่าจากผู้สนับสนุน หรือหามาจากการได้รับบริจาค ก็ต้องหาสตางค์เยอะพอสมควร สปอนเซอร์ก็มีมาอยู่เรื่อยๆ อย่างบริษัทที่สนับสนุนเราตั้งแต่ปลูกต้นไม้จนสร้างฝายก็สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง มีบริษัทแบบนี้ ต้องการทำเพื่อสังคมจริงๆ ไม่ใช่แค่การทำ CSR เฉยๆ

 

Sponsored Ad

 

    “ส่วนจิตอาสาทุกคนก็ช่วยแบบสุดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นทีมงานที่ทำอยู่ ณ ตอนนี้ หรือการที่เราไปลงพื้นที่ เราเห็นถึงความตั้งใจของแต่ละคน มันเป็นแรงใจที่จะผลักดันให้เราทำงาน มันเกินคุ้มเหนื่อยกับความสุขที่เราได้รับคืนมา

    “แต่ต้องบอกว่าทีมงานที่เรามีอยู่ทุกคนเป็นจิตอาสาเหมือนกันหมด ทุกคนมีงานประจำเหมือนกันหมด และไม่มีใครมีความรู้เหมือนกันหมด คือทุกคนต้องหาความรู้และข้อมูลต่างๆ อย่างเรื่องการปลูกต้นไม้ เราก็พยายามหาเครือข่ายในพื้นที่มาดูแลต้นไม้ เพราะกว่าที่จะโตต้องใช้เวลาและการดูแลถึง 3 ปี ซึ่งพอเราหาเครือข่ายตรงนั้นได้เราก็สบายใจ แต่ว่าการปลูกคน ปลูกใจของเราก็คือทำยังไงให้ชาวบ้านเขามีปากท้องอิ่ม ไม่เบียดเบียนพื้นที่ป่าไม้เพิ่ม

Sponsored Ad

    “และต้องขอบคุณ ‘มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์’ ที่เป็นผู้อนุเคราะห์เราตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อมูล จนวันที่เราจะสร้างฝายก็มีการส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยดูว่าพื้นที่ตรงนี้สร้างได้หรือสร้างไม่ได้ เหมาะกับการสร้างฝายแบบไหน มูลนิธิอนุเคราะห์ในเรื่องการซื้อวัสดุอุปกรณ์ แล้วชาวบ้านในพื้นที่เป็นคนลงแรง ในขณะที่เราให้วัสดุอุปกรณ์ แต่คนลงแรงก็ไม่มีความรู้ เราเลยต้องพาเขาไปเรียนด้วย เหมือนทำให้เขารู้สึกได้ว่าเราตั้งใจและไม่มีจุดประสงค์อื่นใดเลยนอกจากความปรารถนาดีให้เขา พาตัวแทนไปเรียนแล้วกลับมาสอนคนอื่นด้วย และลงมือในการทำด้วย”

    ยากไหมกับการเปลี่ยนใจคน?

    “คือตอนแรกเราเหมือนคนแปลกหน้าในพื้นที่ แล้วก็เป็นคนนอก บางครั้งอาจจะมีความลังเล สงสัยในจุดประสงค์ของเราว่าเรามาเพื่ออะไร แต่ว่าสิ่งที่สำคัญคือว่าเราต้องทำจริง และก็ทำให้บรรลุจุดประสงค์ เหมือนพอเราเข้าไปเรื่อยๆ เหมือนคนที่เป็นญาติเขาแล้ว และเราก็เหมือนว่าต้องไปให้เขาเห็น ลงมือช่วยกันทำบ่อยๆ เขาสามารถแซวและหยอกล้อกันได้แล้ว นี่แหละคือการค่อยๆ ซึมซับ ให้เขารู้สึกว่าเราคนนอก เรายังใส่ใจสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของเขาขนาดนี้ เขาเป็นคนในพื้นที่เอง หน้าที่ของเขาคือต้องดูแลและรักษาต่อไป

    “เรื่องงานต้นไม้ปลูกป่า ถ้าคนเมืองจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เราจะไปปลุกความรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของทุกคนมันก็เป็นเรื่องยาก แต่จริงๆ แล้วปัญหาโลกร้อนมันน่ากลัวกว่าที่ทุกคนคิด เปลือกโลกที่เคลื่อนที่ หรือน้ำแข็งที่ละลาย ซึ่งไม่ใช่ว่ามันค่อยๆ เป็นเหมือนอดีตที่ผ่านมาที่เปลี่ยนแบบค่อยๆ แต่ปัจจุบันมันเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งเมื่อได้อ่านข้อมูลเหล่านี้ยิ่งรู้สึกว่าน่ากลัวมาก ซึ่งเราก็หวังว่าทุกคนจะตื่นตัวกันมากขึ้น เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเราเอง แต่เรายังทำไปถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลานที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป”

    กับงานละครจะมีบ้างไหม?

    “ยังไม่มีเลยค่ะ ตอนนี้ไม่มีแพลนรับละครเลย ถามว่าเพราะงานจิตอาสาหรือเปล่า คือเราไม่อยากให้มองว่าเป็นข้ออ้างว่าเราทำงานนี้เลยไม่รับงานละคร แต่จริงๆ คือเรายังไม่อยากรับงานละครเรื่องหนึ่ง ส่วนการที่เราอยากทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมคืออีกเรื่องหนึ่ง คนละเรื่องกัน”

    เรียกว่าอิ่มตัวกับงานละครได้ไหม?

    “ไม่แน่ใจว่ามันจะเรียกว่าอิ่มตัวได้หรือเปล่า เพียงแต่ว่ามันต้องการอะไรที่แปลกใหม่ ที่เราไม่เคยทำ เพราะเราอยู่มานาน และทำมาก็หลายแบบแล้ว”

    สุดท้ายอยากบอกอะไรแฟนๆ ที่ติดตามผลงานของเราบ้าง?

    “ขอบคุณ ไม่รู้จะขอบคุณว่าอะไร เอาเป็นว่าถ้าใครคิดถึงก็ขอบคุณแล้วกันนะคะ ที่นึกถึงและถามถึงว่าเมื่อไหร่จะมีละคร คิดถึง อยากดู ก็ขอให้มาดูข่าวปลูกป่าสร้างฝายไปก่อนแล้วกันระหว่างนี้” (หัวเราะ)

.

.

.

ที่มา : cherrykhemupsorn, praew

บทความแนะนำ More +

บทความที่คุณอาจสนใจ